วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ก่อกำเนิดเกิดเป็นพระอภัยมณี

      เมื่อพูดถึงวรรณคดีไทยที่สนุกสนาน น่าติดตามทุกช่วงทุกตอน คงไม่พ้นเรื่องราวของเจ้าชายรูปงามผู้มีความสามารถทางดนตรีอย่างล้ำเลิศ สามารถใช้เครื่องดนตรีประจำตัวเป็นทั้งอาวุธ ขณะเดียวกันเสียงบรรเลงเพลงจากเครื่องดนตรีที่แสนถนัดนั้นก็ยังสามารถนำพามาซึ่งความรักในหลากหลายรูปแบบ ด้วยความสามารถหาที่เปรียบไม่ได้ของท่านสุนทรภู่ กวีเอกแห่งสยามประเทศ พระอภัยมณีจึงวรรณคดีที่ไม่มีวันตายไปตามยุคสมัย ใครเลยจะคิดว่าจินตนาการที่ท่านสร้างไว้ในสมัยนั้นจะสามารถกลับกลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงได้ในยุคปัจจุบัน และไม่แน่ในอนาคตสิ่งที่ยังไม่มีในยุคนี้อาจจะมีให้เห็นในยุคต่อๆไปก็เป็นได้ ก่อนจะเข้าถึงเนื้อหาเรื่องราวของพระอภัยมณี เรามาทำความรู้จักกับท่านสุนทรภู่ ผู้ประพันธ์เรื่องนี้กันก่อนดีกว่า 


พระสุนทรโวหาร นามเดิม ภู่ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สุนทรภู่ (26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 - พ.ศ. 2398) เป็นอาลักษณ์ชาวไทยที่มีชื่อเสียงเชิงกวี ได้รับยกย่องเป็น เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย เกิดหลังจากตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ 4 ปี และได้เข้ารับราชการเป็นอาลักษณ์ราชสำนักในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อสิ้นรัชกาลได้ออกบวชเป็นเวลาร่วม 20 ปี ก่อนจะกลับเข้ารับราชการอีกครั้งในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นอาลักษณ์ในสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรนรังสรรค์   ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น พระสุนทรโวหาร เจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร ซึ่งเป็นตำแหน่งราชการสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิต      สุนทรภู่เป็นกวีที่มีความชำนาญทางด้านกลอน ได้สร้างขนบการประพันธ์กลอนนิทานและกลอนนิราศขึ้นใหม่จนกลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางสืบเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ผลงานที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่มีมากมายหลายเรื่อง เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศสุพรรณ เพลงยาวถวายโอวาส กาพย์พระไชยสุริยา และ พระอภัยมณี  เป็นต้น โดยเฉพาะเรื่อง พระอภัยมณี ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสร ว่าเป็นยอดของวรรณคดีประเภทกลอนนิทาน และเป็นผลงานที่แสดงถึงทักษะ ความรู้ และทัศนะของสุนทรภู่อย่างมากที่สุด งานประพันธ์หลายชิ้นของสุนทรภู่ได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนนับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เช่น กาพย์พระไชยสุริยา นิราศพระบาท และอีกหลาย ๆ เรื่อง           

ปี พ.ศ. 2529 ในโอกาสครบรอบ 200 ปีชาตกาล สุนทรภู่ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม ผลงานของสุนทรภู่ยังเป็นที่นิยมในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมาไม่ขาดสาย และมีการนำไปดัดแปลงเป็นสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ เพลง รวมถึงละคร มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่  ไว้ที่ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง บ้านเกิดของบิดาของสุนทรภู่ และเป็นที่กำเนิดผลงานนิราศเรื่องแรกของท่านคือ นิราศเมืองแกลง นอกจากนี้ยังมีอนุสาวรีย์แห่งอื่น ๆ อีก เช่น ที่วัดศรีสุดาราม ที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดนครปฐม วันเกิดของสุนทรภู่คือวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี ถือเป็น วันสุนทรภู่ ซึ่งเป็นวันสำคัญด้านวรรณกรรมของไทย มีการจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติคุณและส่งเสริมศิลปะการประพันธ์บทกวีจากองค์กรต่าง ๆ โดยทั่วไป
(ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่ท่านผู้อ่านสามารถติดตามเข้าไปอ่านเรื่องราวโดยละเอียดได้ตามลิงค์นี้เลยนะคะ สุนทรภู่)
ไม่มีบันทึกไว้ชัดเจนว่า สุนทรภู่เริ่มแต่ง พระอภัยมณี ขึ้นเมื่อใด แต่จากการวิเคราะห์สำนวนกลอนและการกล่าวอ้างถึงในผลงานชิ้นอื่นๆ ของสุนทรภู่ นักวิชาการคาดว่าสุนทรภู่น่าจะเริ่มแต่งเรื่อง พระอภัยมณี ตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อคราวต้องโทษติดคุก (คาดว่าประมาณ ปี พ.ศ. 2364 -2366) โดยค่อยแต่งทีละเล่มสองเล่มเรื่อยไป และยัง แต่งๆ หยุดๆ เป็นหลายครั้ง ในตอนแรกเขียนจบไว้ที่ 49 เล่มสมุดไทย แต่ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ทรงมีรับสั่งให้แต่งต่อ ในที่สุดจึงได้มีความยาวถึง 64 เล่มสมุดไทย ทว่านักวรรณคดีบางท่านเสนอความเห็นว่าในเล่มหลังๆ อาจไม่ใช่สำนวนของสุนทรภู่เพียงคนเดียว คาดว่าสุนทรภู่หยุดแต่งเรื่อง พระอภัยมณี ประมาณ ปี พ.ศ. 2388 หลังการสิ้นพระชนม์ของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ใช้เวลาในการประพันธ์ทั้งสิ้นมากกว่า 20 ปี    
     
พระอภัยมณี เป็นวรรณคดีชิ้นเยี่ยมเรื่องหนึ่งของไทย ผลงานชิ้นเอกของพระสุนทรโวหาร หรือ สุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประพันธ์ขึ้นเป็นนิทานคำกลอนที่มีความยาวมากถึง 94 เล่มสมุด เมื่อพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ จะมีความยาวกว่าหนึ่งพันสองร้อยหน้า ระยะเวลาในการประพันธ์ไม่มีการระบุไว้อย่างแน่ชัด แต่คาดว่าสุนทรภู่เริ่มประพันธ์ราวปี พ.ศ. 2364-2366 และแต่ง ๆ หยุด ๆ ไปตลอดเป็นระยะ สิ้นสุดการประพันธ์ราว พ.ศ. 2388 รวมเวลามากกว่า 20 ปี           
เนื้อเรื่องของ พระอภัยมณี ส่วนใหญ่คือเหตุการณ์ในชีวิตของตัวละครพระอภัยมณี นับแต่อายุได้ 15 ปีและออกเดินทางไปศึกษาวิชาความรู้เช่นเดียวกับเจ้าชายในวรรณคดีไทยอื่น ๆ แต่วิชาที่พระอภัยมณีไปศึกษามา มิใช่วิทยาอาคมหรือความรู้เกี่ยวกับการปกครองบ้านเมือง กลับเป็นวิชาดนตรีคือ การเป่าปี่ ทำให้พระบิดากริ้วมากจนขับไล่ออกจากเมือง
การผจญภัยของพระอภัยมณีก็เริ่มขึ้นนับแต่นั้น เขากับน้องชายคือ ศรีสุวรรณ ระเหเร่ร่อนไปจนเจอกับสามพราหมณ์ ถูกนางผีเสื้อสมุทรจับตัวไป  มีบุตรชายชื่อสินสมุทร พ่อเงือกแม่เงือกช่วยพาหนีไปยังเกาะแก้วพิศดาร เขามีบุตรกับอมนุษย์อีกครั้งคือกับนางเงือก ได้บุตรชายชื่อสุดสาครต่อมาพระอภัยมณีได้รับความช่วยเหลือจากเจ้ากรุงผลึกและรักกันกับลูกสาวของเจ้ากรุง คือนางสุวรรณมาลี แต่นางมีคู่หมั้นแล้วกับชาวต่างชาติแห่งเกาะลังกา ความขัดแย้งนี้ทำให้เกิดสงครามใหญ่ระหว่างกรุงผลึกกับกรุงลังกาเป็นเวลานานหลายปี
แต่ในที่สุดสงครามก็ยุติลงได้ เมื่อนางละเวงวัฬลาลูกสาวเจ้ากรุงลังกาซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองสาวสวย ตกหลุมรักกับพระอภัยมณีเสียเอง หลังสงคราม พระอภัยมณีปลงได้กับความไม่แน่นอนของโลกมนุษย์และออกบวช โดยมีภรรยามนุษย์ทั้งสองคนคือนางสุวรรณมาลีกับนางละเวงออกบวชด้วย เรื่องราวในช่วงหลังของ พระอภัยมณี เป็นการผจญภัยของรุ่นลูก ๆ ของพระอภัยมณี
โดยมีสุดสาครกับนางเสาวคนธ์เป็นตัวละครหลัก เรื่องราวของสุดสาครโดยเฉพาะในช่วง กำเนิดสุดสาคร (พระอภัยมณี ตอนที่ 24-25) นับว่าเป็นวรรณกรรมเยาวชนที่โด่งดังมากอีกชุดหนึ่ง       
พระอภัยมณี จัดได้ว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของสุนทรภู่ และเป็นที่รู้จักกว้างขวางมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเค้าโครงเรื่องของพระอภัยมณีแหวกประเพณีของวรรณคดีในยุคเก่า มีจินตนาการล้ำยุคอยู่มากมาย และมีตัวละครจากหลากหลายชนชาติ แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และความเปิดกว้าง ความเป็นนักคิดยุคใหม่ของผู้ประพันธ์เมื่อเปรียบเทียบกับยุคสมัยเดียวกันได้เป็นอย่างดี 
นักวิชาการจำนวนมากพากันศึกษากลอนนิทาน พระอภัยมณี เพื่อค้นคว้าหาแรงบันดาลใจ เชื่อมโยงแนวคิดของสุนทรภู่กับวรรณกรรมโบราณ ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ยุคใหม่ของบรรดานักเดินเรือที่เข้ามาสู่ประเทศไทยในยุคการค้าสำเภา 
นอกจากนี้ แนวคิดที่สุนทรภู่สอดแทรกไว้ในบทประพันธ์ทำให้ผลงานชิ้นนี้โดดเด่นและเป็นที่รู้จักมาก เพราะผู้คนล้วนใช้บทกลอนเหล่านั้นเป็นคติสอนใจ เช่น บทกลอนในช่วงที่พระฤๅษีสอนสุดสาคร เป็นต้น      


เมื่อเข้าสู่ยุคของการพิมพ์ พระอภัยมณี ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวงกว้างยิ่งขึ้นโดยโรงพิมพ์ของหมอสมิท ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความนิยมของเรื่องมีมากขนาดที่หมอสมิทสามารถจำหน่ายนิทานคำกลอนเรื่องนี้ขายดิบขายดีจนมีเงินสร้างตึกได้ ในยุคต่อมา มีการดัดแปลงและถ่ายทอดวรรณกรรมชิ้นนี้ออกไปในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย ทั้งเรื่องเล่าร้อยแก้ว การ์ตูน รวมทั้งภาพยนตร์และละคร บทกลอนหลายช่วงในเรื่อง พระอภัยมณี ได้รับคัดเลือกให้บรรจุอยู่ในแบบการเรียนการสอนขอกระทรวงศึกษาธิการ กลายเป็นคติสอนใจที่ผู้คนทั่วไปจดจำกันได้(แหล่งข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี "พระอภัยมณี" )






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น